ภาษากะซอง : เสียงของคนกลุ่มสุดท้ายแห่งดินแดนตะวันออก

กะซองเป็นชื่อที่ใช้เรียกทั้งภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด บริเวณนี้เป็นที่ราบเชิงเขาของแนวเทือกเขาบรรทัดที่เชื่อมต่อระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา และภาคตะวันออกของประเทศไทย เชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของกลุ่มชนที่พูดภาษากะซอง ซัมเร รวมทั้งชอง ในจังหวัดจันทบุรี
คำว่า “กะซอง”สันนิษฐานว่ามีความหมายว่า “คน” เดิมทีกะซองเป็นที่รู้จักของคนภายนอกว่า “ชองจังหวัดตราด (Chong of Trat)” (Isarangura, 1935) ด้วยมีความคล้ายคลึงของชื่อและความใกล้เคียงของภาษา ทำให้เข้าใจว่าเป็นภาษาเดียวกัน ชาวกะซองบางคนก็เรียกตัวเองว่า “คนชอง”“พูดชอง” ด้วยเหมือนกัน เนื่องจากมีกลุ่มคำศัพท์คล้ายกัน แต่ภาษา วัฒนธรรม และสำนึกนั้นเป็นคนละกลุ่ม
ชาวกะซองในปัจจุบันส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่หมู่บ้านคลองแสง บ้านด่านชุมพล และมีจำนวนเล็กน้อยอยู่ที่บ้านปะเดา ตำบลด่านชุมพล อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ชาวกะซองสร้างครัวเรือนอยู่กระจัดกระจาย ปะปนกับคนไทยและคนกลุ่มอื่น ๆ เช่น ชาวลาวอีสาน ชาวจีน และชาวเขมรที่เข้ามาตั้งรกรากทีหลัง มีอาชีพทำเกษตรกรรม อาทิ ปลูกยางพารา ทำไร่สับปะรด และสวนผลไม้ ตลอดจนทำนาเพื่อบริโภคในครัวเรือนและไว้ขายบ้าง นอกจากนี้ยังมีรายได้เสริมจากการเก็บของป่าในช่วงฤดูแล้ง
ชาวกะซองมีการแต่งงานกับคนนอกกลุ่มจึงเกิดการผสมผสานระหว่างเชื้อสายและวัฒนธรรมตามแบบไทย ส่งผลให้ประเพณีดั้งเดิมหลายอย่างเลือนหาย ที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ตามเดิมเห็นจะมีพิธีแต่งงาน การบูชาผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษ ส่วนการเล่นผีแม่มดเชิญผีมาเข้าร่างทรงเพื่อช่วยให้คนป่วยหายเจ็บไข้ปัจจุบันไม่มีแล้วด้วยหายไปพร้อมกับผู้เฒ่าผู้แก่ชาวกะซองกลุ่มสุดท้าย
อัตลักษณ์ภาษากะซอง
ภาษากะซองจัดอยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติก (มอญ–เขมร) กลุ่มเพียริก จากการสำรวจของนักภาษาศาสตร์พบว่าภาษากลุ่มนี้อยู่ในภาวะวิกฤตระดับรุนแรงเกือบทั้งหมด โดยภาษากะซองจัดอยู่ในสถานการณ์รุนแรงระดับ ๘ ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายที่กำลังจะสูญหายไป
อัตลักษณ์ที่สำคัญของภาษากะซองคือ มีเสียงพยัญชนะต้น ๒๑ หน่วยเสียงพยัญชนะท้าย (ตัวสะกด) ๑๒ หน่วยเสียง เสียงตัวสะกดที่แสดงลักษณะเด่นของภาษานี้คือเสียง <จ><ญ><ล> และ <ฮ> ในส่วนของเสียงสระนั้น มีสระเดี่ยว ๑๗ หน่วยเสียง และมีสระประสมหน่วยเสียงเดียวคือ เสียงสระ <อัว>และในปัจจุบันภาษากะซองกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาษามีวรรณยุกต์จากอิทธิพลภาษาไทย
ในด้านการใช้ศัพท์ ภาษากะซองมีคำศัพท์เฉพาะของกลุ่มตัวเองดังเช่น “ระแนง” แปลว่า ปาก“ครัน”แปลว่า น่อง “คัด” แปลว่า กัด“ตัก” แปลว่า ใหญ่“มาล”แปลว่า ไร่ เป็นต้น
ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการเพิ่มหน่วยคำเติมซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของภาษากลุ่มมอญ-เขมรตัวอย่างคู่คำที่เพิ่มหน่วยเติมหน้า เช่น
“คึน”แปลว่า ตัวเมีย กับ“สำคึน”แปลว่าผู้หญิง
“ฮ้อบ”แปลว่า กิน(ข้าว)กับ “นะฮ้อบ”แปลว่า ของกิน (อาหาร)
ภาษากะซองใช้การเรียงคำในประโยคแบบ ประธาน-กริยา-กรรม (S-V-O)เช่น
ฮ้อบกลง ฮือ นาน <กิน-ข้าว-หรือ-ยัง>แปลว่า กินข้าวหรือยัง
อัยปี่ ท่อ จาม แปจ <ใคร-ทำ-ชาม-แตก>แปลว่าใครทำชามแตก
อาวัน ทู่ นัฮ<วันนี้-ร้อน-มาก>แปลว่าวันนี้ร้อนมาก เป็นต้น
วิกฤตการณ์ทางภาษาสู่การแก้ปัญหาจากฐานชุมชน
ปัจจุบันมีผู้พูดภาษากะซองที่ยังสื่อสารได้ดีไม่ถึง๑๐ คน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ ส่วนในวัยกลางคนจนถึงรุ่นเยาว์แม้จะเข้าใจภาษาของตนอยู่บ้างแต่ไม่สามารถสื่อสารเป็นประโยคยาวๆ ได้
ในปี ๒๕๔๔ชุมชนชาวกะซองบ้านคลองแสงได้พยายามฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองโดยผ่านการทำโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีพี่เลี้ยงจากหน่วยงานทางวิชาการช่วยเหลือด้านกระบวนการวิจัย โครงการวิจัยแรกคือ “แนวทางการพลิกฟื้นภาษากะซองเพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน บ้านคลองแสง ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด” มีนายสันติ เกตุถึก เป็นหัวหน้านักวิจัย และมีป้าสมศรี เกตุถึก ปราชญ์ผู้รู้ภาษากะซองเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการทำงานเกิดผลเป็นการสร้างระบบตัวเขียนภาษากะซองด้วยตัวอักษรไทย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกภูมิปัญญาท้องถิ่นและภาษากะซองอย่างเป็นระบบ
เมื่อมีระบบตัวเขียนแล้ว จึงเกิดการต่อยอดในการเขียนบันทึกนิทาน เรื่องเล่า องค์ความรู้และภูมิปัญญาที่สำคัญ ตลอดจนการแต่งเพลง และเขียนหลักสูตร-แผนการสอนภาษากะซอง เพื่อสอนในโรงเรียนประจำชุมชน แต่นโยบายการสอนยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร จำนวนผู้พูดภาษากะซองจึงยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
ในปี ๒๕๕๖ นางสาวเสวย เอกนิกร หนึ่งในคณะวิจัยชุมชนได้ชักชวนลูกหลานชาวกะซองให้ร่วมกันฟื้นฟูภาษาของตนเองอีกครั้งในโครงการ “กระบวนการเรียนรู้เพื่อสืบต่อภาษากะซองโดยคนกะซองรุ่นสุดท้าย” ซึ่งมีแนวคิดสำคัญเพื่อเพิ่มจำนวนผู้พูดภาษากะซองทั้งในกลุ่มผู้ใหญ่และเยาวชน โดยให้ไปเรียนภาษากับครูภูมิปัญญาตามบ้านในวันหยุด ฝึกทักษะฟัง-พูดอย่างเข้มข้นกับผู้สูงอายุที่ยังสามารถสื่อสารภาษากะซองได้ดี และพัฒนาไปสู่การเรียนภาษากะซองในชีวิตประจำวัน การเรียนภาษาในกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในการที่จะสื่อสารภาษากะซองได้ดีที่สุดในทุกสถานการณ์
ผู้รู้ภาษากะซองที่มีหลงเหลืออยู่ไม่มากนักต่างพอใจมากที่เห็นลูกหลานสนใจกระตือรือร้นและพยายามพูดคุยเป็นภาษากะซอง เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและชุมชนมากขึ้นผ่านการเรียนภาษาท้องถิ่นที่ช่วงเวลาหนึ่งแทบจะไม่มีใครใช้สื่อสาร นับเป็นการพลิกฟื้นเสียงภาษากะซองที่กำลังจะเลือนหายไปจากชุมชนให้มีชีวิตขึ้นมาเพื่อสืบต่อไปสู่อนาคต
ผลจากการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
การที่ภาษากะซองได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขาภาษา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจแล้ว ยังมีส่วนกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงการอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น และมีส่วนทำให้ชุมชนและภาษากะซองเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด แก้ไขความเข้าใจผิดของสังคมวงกว้างว่าภาษาของชุมชนนี้คือ “ภาษากะซอง” ไม่ใช่ภาษาชอง และที่สำคัญคือมีเพียงชุมชนเดียวในประเทศไทยที่ยังใช้ภาษานี้อยู่ สื่อมวลชนต่างให้ความสนใจถ่ายทอดเรื่องราว สถาบันการศึกษาเริ่มมีโครงการศึกษาภาษาของชุมชนกะซองบ้านคลองแสงมากยิ่งขึ้น หน่วยงานในท้องถิ่นก็ให้ความสำคัญ โดยเชิญนักวิจัยท้องถิ่นไปบรรยายสาธิตภาษาและวัฒนธรรมกะซองตามงานสำคัญของจังหวัด
เหนือสิ่งอื่นใด กำลังใจที่ชาวกะซองได้รับจากการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติจะเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่ทำให้ลูกหลานชาวกะซองลุกขึ้นรักษาภาษาของตนเอง เหมือนดังบทกวีของชาวกะซองที่กล่าวว่า
คะซึ้มกะซ่องก้าดน่อม่ดโฮย กึรินเทดโวยโมดคลินแฮง
กึรินยิ่บญ่ายยิบร่อง อึแฮนคล่องกะแน่งแฮง
บ้อแฮงญ่างอีนร่องอีน แฮงเจวซอนโมดคลินเคนชู
ปาซากะซ่องเป็นปาซาซรุก ไอ้ปี้ยิบคลุกแฮงต้องซู้
ปวกแฮงเป็นคซึ้มกะซ่อง แฮงกอฮตฺ้องกอฮเคร้เลว
ปะซากะซ่องเป็นปาซามิญ แฮงตองกึฮรินจ่อยซงวนออน
คำแปล
คนกะซองใกล้จะหมดแล้ว ลุกขึ้นเถิดหนาพี่น้อง
ลุกขึ้นมาช่วยพูดช่วยร้อง ให้มันคล่องปากเรา
พวกเราพูดได้ร้องได้ เราไปสอนพี่น้องลูกหลาน
ภาษากะซองเป็นภาษาพื้นบ้าน ใครมาไล่เราต้องสู้
พวกเราเป็นคนกะซอง เราไม่กลัวไม่อายใคร
ภาษากะซองเป็นภาษาแม่ เราต้องลุกขึ้นช่วยกันสงวนไว้
เรื่อง : ณัฐมน โรจนกุล,รณกร รักษ์วงศ์
ภาพ : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล