ลอยเรือสู่ดินแดนนิรันดร์ ของ อูรักลาโว้ย

เรือจำลองทำจากไม้ปาจั๊ก ตกแต่งอย่างงดงาม ลอยตามแรงลมและระลอกคลื่น เพื่อนำความเชื่อและศรัทธาของชาวอุรักลาโว้ย ไปสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษ ณ เกาะลันตาไข่มุกเม็ดสุดท้ายแห่งอันดามัน
เรือไม้ระกำหรือ ปาจั๊ก เรือจำลองที่ตกแต่งอย่างงดงามโยนตัวไหวพริ้วตามระลอกคลื่น ผืนผ้าที่เปรียบเสมือนใบเรือโบกสะบัดเบา ๆ ตามแรงลม พี่น้องชาวเล ทุกคน ที่มายืนส่งเรือลำนี้ คงภาวนาให้เรือลำน้อยล่องลอยฝ่ากระแสคลื่นลมไปให้ถึงดินแดนศักดิ์สิทธ์ของบรรพบุรุษ คำภาวนานั้นน่าจะเปี่ยมด้วยศรัทธาของพวกเขา ชาวอูรักลาโว้ย ที่มาร่วมกันประกอบพิธีกรรมลอยเรืออันศักดิ์สิทธิ์และสำคัญยิ่ง ณ ที่นี่ เวลานี้ ผืนดินและผิวน้ำ ณ เกาะลันตาแห่งทะเลอันดามัน ดินแดนสยามด้ามขวานทอง
ผู้บุกเบิกเกาะลันตา
เกาะลันตาเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดกระบี่ที่กำลังมาแรงเรื่องการท่องเที่ยว ถึงกับได้รับการขนานนามว่า เป็นไข่มุกเม็ดสุดท้ายแห่งอันดามัน ด้วยธรรมชาติที่ยังคงความสมบูรณ์ มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชนที่หาได้ยากยิ่งในแถบทะเลอันดามัน ที่กระแสธุรกิจการท่องเที่ยวกำลังถาโถมเข้าหา
ชื่อลันตา มาจากไหนหลายคนคงสงสัยบางข้อมูลนั้นบอกว่า ลันตา มาจากคำว่า ลานตา หมายถึง หาดทรายที่เรียงรายละลานตายามมองเข้ามาจากทะเล บ้างก็กล่าวอ้างถึงข้อมูลที่มาจากภาษามลายู ความว่าลันตามาจาก ลันต๊าส หรือ ลันตัส อันหมายถึง ผลาปลาย่าง หรือแผงตากปลาซึ่งมากมายเต็มชายหาดเกาะลันตาในอดีต
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลระบุว่าชาวจีนที่แล่นสำเภาเข้ามาเคยเรียกเกาะนี้ว่า ลุนตั๊ดซู หมายถึง เกาะที่มีเทือกเขาเป็นแนวยาว
แต่หากจะถามถึงชื่อเกาะลันตากับชาวอูรักลาโว้ยที่ฝังรากลึกอยู่ที่นี่มาก่อนกลุ่มชนใดพวกเขาจะบอกว่าบรรพบุรุษเรียกเกาะนี้ว่า ซาตั๊ก อันหมายถึงเกาะที่มีหาดทรายขาวยาวเหยียด ตามสายตาแรกเห็นครั้งบรรพบุรุษของอูรักลาโว้ยล่องเรือมาถึง แล้วมองมายังเกาะที่ยังไม่มีชื่อในแผนที่แห่งนี้
ตามประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวว่า เกาะลันตามีกลุ่มคนเข้ามาตั้งหลักแหล่งครั้งแรกเมื่อประมาณกว่า ๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว คนกลุ่มแรกที่ว่านี้คือ ชาวอูรักลาโว้ย (อูรัก-คน ลาโว้ย-ทะเล) หรือที่เรียกกันว่าชาวเล ซึ่งในอดีตเคยมีวิถีชีวิตอยู่ในเรือ สัญจรไปในท้องทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย
อูรักลาโว้ย เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ทางทะเลที่อาศัยอยู่ทางฝั่งทะเลอันดามันของไทย ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่แถบชายฝั่งทะเลและเกาะต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ โดยเฉพาะเกาะลันตาจังหวัดกระบี่ นั้นเปรียบเสมือนเมืองหลวงของชาวอูรักลาโว้ยเลยทีเดียว นั่นเพราะเกาะลันตาเป็นที่ซึ่งบรรพบุรุษของ
อูรักลาโว้ยในอดีตได้ตัดสินใจขึ้นฝั่งเพื่อลงหลักปักฐานอย่างถาวร ณ ที่นี้
นักวิชาการด้านชาติพันธุ์ สันนิษฐานว่าอูรักลาโว้ยกลุ่มที่มาขึ้นฝั่ง ณ เกาะลันตา น่าจะเป็นกลุ่มที่เคยล่องเรืออยู่แถบช่องแคบมะละกา พวกเขาเคยเป็นกลุ่มชนที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเรือ บางช่วงขึ้นฝั่งปลูกเพิงพักและเพาะปลูกพืชผลบ้าง แต่ไม่ถึงกับอยู่เป็นหลักแหล่งถาวร ตราบเมื่อมาพบเกาะลันตานั่นแหละ
จึงตัดสินใจเลือกที่นี่เป็นที่พำนักยาวนาน
อูรักลาโว้ยเป็นกลุ่มชนที่มีความเชื่อทางจิตวิญญาณ เคารพวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ มีพิธีกรรมทางความเชื่อหลายอย่างที่สืบทอดกันมา แต่พิธีกรรมบางอย่างได้ถูกตัดทอนและกลายกลืน ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและผู้คน แต่มีพิธีกรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่ยังสืบทอดต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ นั่นคือ พิธีลอยเรือ หรือ ฮารีปาจั๊ก
สมัยก่อนที่เริ่มปักหลัก ณ เกาะลันตา และต่อมาแยกย้ายไปตั้งชุมชนที่เกาะอื่นๆ เช่น เกาะจัม เกาะพีพี และ เกาะภูเก็ต ครั้นเมื่อถึงเวลาลอยเรือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนพวกเขาจะกลับมาทำพิธีลอยเรือร่วมกันที่ลันตา นี่จึงเป็นข้อหนึ่งที่เปรียบเสมือนว่า เกาะลันตาคือเมืองหลวงของอูรักลาโว้ย นั่นเอง ต่อมาผู้คนในพื้นที่อื่นมีจำนวนมากขึ้น ต่างคนจึงต่างประกอบ พิธีกรรมลอยเรือในชุมชนของตนเอง
ฮารีปาจั๊ก พิธีลอยเรือ
พิธีกรรมลอยเรือจะมีขึ้นปีละ ๒ ครั้งในช่วงรอยต่อของฤดูกาล...
โมงยามแห่งการเปลี่ยนผ่านฤดูกาลนั้น มักจะเป็นเวลาของการร่วมกันทำบางอย่างของคนในชุมชน เพื่อบวงสรวงบูชา เสริมสร้างกำลังใจ รวมถึงสังสรรค์ร่วมกัน ก่อนชีวิตจะดำเนินต่อไป ในช่วงขึ้น ๑๓ ค่ำถึงแรม ๑ ค่ำ ของเดือน ๖ ตามจันทรคติซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้หรือลมพลัด เป็นการเริ่มต้นฤดูฝนในท้องถิ่น ยามนี้ฝนฟ้าคลื่นลมในทะเลฝั่งอันดามันจะเริ่มแปรปรวน และเดือน ๑๑ ที่มักจะตรงกับเดือนตุลาคม เป็นช่วงเริ่มของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือลมออก เป็นการเริ่มต้นของฤดูหนาว จึงเป็นเวลาที่กลุ่มชนอูรักลาโว้ยกำหนดขึ้นให้มีการประกอบพิธีกรรมลอยเรือ
ส่วนใหญ่แล้วการลอยเรือจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำ แต่อาจจะเหลื่อมวันกันเล็กน้อยตามความจำเป็นของชุมชน แต่ไม่ไกลห่างไปจากนี้ เพราะพิธีกรรมสัมพันธ์กับดวงจันทร์และระดับน้ำทะเล
โดยเฉพาะคืนค่ำที่มีการเล่นรำมะนาและร่ายรำรอบเรือไม้ระกำหรือ “ปาจั๊ก” ขณะที่เดือนเต็มดวงสว่างไสวอาบไล้อยู่เหนือหัว งดงามและศักดิ์สิทธิ์เกินบรรยาย แม้ว่าทุกวันนี้จะมีแสงไฟและเสียงเพลงสมัยใหม่แผดดังเข้ามาแทรก ทว่ารัศมีแห่งความขลังงามของดวงจันทร์วันเพ็ญก็ยังแผ่โอบอุ้มคลุมพื้นที่รอบปาจั๊กไม่เสื่อมคลาย
พิธีลอยเรือมีอยู่ ๓ วัน ๒ คืน ถ้าจะนับตั้งแต่วันแรกที่พวกผู้ชายขึ้นไปตัดไม้ระกำในป่าบนควนเพื่อนำมาประกอบเรือ โดยช่างฝีมือของหมู่บ้านจะเป็นผู้นำในการทำงาน พร้อมกับร้องรำทำเพลงดื่มกินกันอย่างสนุกสนานตลอดค่ำคืน ช่วงสายของอีกวันพวกผู้หญิงจะนำดอกไม้และของตกแต่งอื่นๆ มาประดับเรือ ตกเย็นเมื่อปาจั๊กงดงามสมบูรณ์ ก็จะรวมตัวตั้งขบวนแห่กันอย่างครึกครื้น ไปยังสถานที่ประกอบพิธีกรรมใกล้ชายหาดที่กำหนดไว้ บริเวณนี้จะมีการสร้างเพิงพักสำหรับคนในหมู่บ้านและรองรับพี่น้องอูรักลาโว้ยที่มาจากที่อื่น
ยามดวงจันทร์ค่ำคืนสาดส่อง โต๊ะหมอผู้นำในพิธีกรรมพร้อมวงรำมะนาก็เริ่มประกอบพิธีกรรม โดยการจุดเทียนบูชาและโปรยข้าวตอก โต๊ะหมอจะเป็นผู้สื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นผู้เดียวที่สามารถล่วงรู้ว่าบรรพบุรุษเดินทางมาจากกูนุงเยอรัยอันห่างไกลหรือยัง หากมาแล้วก็จะส่งสัญญาณให้นักดนตรีบรรเลงรำมะนาและร่ายรำรอบปาจั๊ก
ถ้าใครได้มาร่วมงานลอยเรือก็จะทึ่งในเรี่ยวแรงของผู้เฒ่าอูรักลาโว้ย ที่บรรเลงรำมะนาและร่ายรำกันตลอดคืน ขณะที่ลูกหลานพากันไปพักผ่อน ก่อนจะตื่นมารวมตัวกันอีกครั้งในยามค่อนคืน ขณะแสงจันทร์สาดส่องสว่างไสวราวกลางวัน และน้ำทะเลขึ้นสูงสุด
รำมะนาและบทเพลงที่แผ่วเสียง จะแว่วดังรัวกระชั้นขึ้นอีกครั้งผสานเสียงคลื่นกระทบฝั่ง ผู้คนชวนกันร่ายรำรอบปาจั๊ก จนกว่าโต๊ะหมอจะส่งสัญญาณให้ทำพิธี เล บา เล หรือ การลักน้ำ ทะเลที่กำลังขึ้นสูงสุดสาดใส่กัน ครั้นย่ำรุ่งโต๊ะหมอจะจุดเทียนประกอบพิธีกรรมตรง ปาจั๊กหรือเรือจำลอง พร้อมกับร่ายบทสวดและกำข้าวตอกไล่สิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไปจากผู้คนที่มาร่วมพิธีกรรม ก่อนซัดข้าวตอกลงในปาจั๊กให้นำพาเคราะห์กรรมสิ่งไม่ดีทั้งหลายล่องไปให้พ้นหมู่บ้าน
พิธีลอยเรือ จะว่าไปก็คล้ายกับพิธีกรรมของกลุ่มชนอื่นๆ
ที่เกี่ยวโยงกับการนำพาสิ่งไม่ดีออกไป การเสียเคราะห์สะเดาะเคราะห์ ซึ่งมักจะมีสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตอยู่ในภาชนะที่จะลอยด้วย ในปาจั๊กของอูรักลาโว้ยมีรูปฝากเป็นตัวแทนสิ่งไม่ดีต่างๆ รวมถึงรูปสัตว์ที่กินในชีวิตประจำวัน ด้วยถือว่าเป็นการส่งวิญญาณสรรพสัตว์เหล่านี้คืนเจ้าของ เพื่อขอขมาและไถ่บาป
หลังเสร็จพิธีกรรม ผู้ชายที่มีพละกำลังแข็งแรงจะช่วยกันแบกปาจั๊กลงทะเลลึกที่สุดเท่าที่ตีนยังหยั่งถึงผืนทราย ก่อนจะปล่อยปาจั๊กให้ลอยไปในทิศทางตามความเชื่อ แต่สมัยนี้จะนำปาจั๊กลงเรือหัวโทงแล่นออกไปไกลก่อนจะส่งลงฝ่าคลื่นลมกลางทะเล นั่นเพราะทุกวันนี้น้ำทะเลและกระแสลมเปลี่ยนแปลงไปอย่างยากจะคาดเดา จึงต้องนำปาจั๊กลงเรือไปลอยให้ไกลด้วยว่าตามความเชื่อนั้นหากเรือที่ลอยไปหวนกลับมาหมู่บ้าน
อาจมีเคราะห์หามยามร้ายเกิดขึ้น
หลังจากลอยเรือในรุ่งเช้าและพักผ่อนกันพอสมควร ตกบ่ายวันเดียวกันนั้นกลุ่มผู้ชายจะช่วยกันตัดไม้เพื่อนำมาประกอบเป็นไม้กันผี ส่วนผู้หญิงจะรับหน้าที่เตรียมใบกะพ้อสำหรับตกแต่งประกอบพิธีให้สมบูรณ์เสร็จแล้วจะจัดขบวนแห่ไปรอบเมือง ก่อนนำกาหยูพาหะดั๊ก ไปปักไว้ในพื้นที่เดียวกับที่เคยวางเรือไม้ระกำเพื่อให้โต๊ะหมอทำพิธี จากนั้นก็เป็นห้วงเวลาแห่งการร้องเล่นรำมะนาและร่ายรำบูชาไม้กันผีกันตลอดคืน จนย่ำรุ่งจึงมีพิธีกรรมทำน้ำมนต์เพื่อชะล้างโชคร้าย
ทั้งปวงให้แก่ชาวอูรักลาโว้ย
หลังจากนั้นจึงนำไม้กันผีไปปักไว้ตามทิศต่างๆ รอบหมู่บ้าน ทั้ง ๗ ทิศ ยกเว้นทิศตะวันตกอันถือเป็นประตูสู่สวรรค์ และเป็นทาง เข้าออกของวิญญาณบรรพบุรุษ ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการเฝ้ามองลูกหลานอูรักลาโว้ย ว่าได้ประกอบพิธีกรรมตามครรลองที่เคยมีมาหรือไม่
ความเชื่อเลข ๗
ไม้กันผี ๗ อันสูง ๗ ศอก เพราะว่าเลข ๗ เป็นเลขที่มีความหมายทางความเชื่อของชาวเลอูรักลาโว้ย หรือจะเรียกว่าเป็นเลขศักดิ์สิทธิ์ก็ว่าได้ เลข ๗ ปรากฏอยู่ในความเชื่อหลายต่อหลายอย่าง บทเพลงที่ใช้ในพิธีกรรมลอยเรือ ต้องเริ่มต้นด้วยเพลง ๗ เพลงซึ่งถือเป็นเพลงของบรรพบุรุษ หรือจะเรียกว่าเพลงบูชาครูก็ว่าได้
รวมถึงการร่ายรำบูชาเรือปาจั๊ก ถ้าจะให้ถูกต้องตามแบบแผนดั้งเดิม ต้องเริ่มด้วยการร่ายรำของนางรำ ๗ นาง ซึ่งทุกวันนี้ค่อนข้างหายาก ค่าที่ว่านางรำที่จะปฏิบัติได้ตามความเชื่อล้วนมีแต่ผู้สูงวัย ทั้งบางนางก็ลาโลกคืนสู่จุดเดิม บางนางก็โรยแรงเกินจะมาร่ายรำส่วนนางรำวัยสาวชาวอูรักลาโว้ยรุ่นใหม่ ก็มักจะถนัดไปทางแดนซ์เพลงสมัยใหม่อึกทึกครึกโครมมากกว่า
ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมลอยเรือ โต๊ะหมอก็ต้องทำพิธีต่างๆ ถึง ๗ ครั้งด้วยกัน เช่นเดียวกับการเซ่นไหว้ศาลบรรพบุรุษช่วงวันแรกของพิธีลอยเรือ จะเห็นข้าวสุก ๗ สี แป้งดิบ ๗ สีเป็นหนึ่งในหลายสิ่งหลายอย่างในประดาข้าวของที่ใช้บูชาเซ่นไหว้
นอกจากความเชื่อเลข ๗ ที่เกี่ยวร้อยอยู่กับพิธีกรรมเซ่นไหว้ต่างๆ ยังมีความเชื่อในหมู่หนุ่มๆ อูรักลาโว้ยอีกด้วยว่า ถ้าจะให้มีเสน่ห์รัดตรึงใจสาวๆ เขาจะต้องไว้เกลื้อนให้ได้ ๗ ดวง อีกด้วย
ยังมีตำนานเรื่องเล่าสืบเนื่องต่อกันมาว่า บรรพบรุษของอูรักลาโว้ยเป็นลูกชายคนโตในจำนวน ๗ คน ของโต๊ะอาดั๊บ และ โต๊ะซิตีฮาวา ซึ่งส่งมาเพื่อ ปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยให้ลูกหลานชาวอูรักลาโว้ย ด้วยความเชื่อนี่เองกระมัง เลข ๗ จึงทรงพลังความหมายอยู่ในวัฒนธรรมกลุ่มชนอูรักลาโว้ย
ไม้กันผี ๗ อัน ก็เปรียบได้กับลูกชาย ๗ คน ในการปักไม้กันผีเพื่อประกอบพิธีกรรมก็ใช่ว่าสักแต่จะปักไปอย่างนั้นเอง ทุกขั้นตอนล้วนมากความหมาย ต้องปักไม้กันผีเรียงรายเป็นทิวแถวจากเนินทรายด้านบนลงไปชายหาด
ด้วยความลาดต่ำสูงตามธรรมชาติของเนินทราย จะเป็นตัวบังคับให้ไม้กันผีสูง ๗ ศอกเรียงรายลดหลั่นกัน เหมือนการยืนเรียงแถวจากพี่ชายคนโตไปถึงน้องชายสุดท้อง กาหยูพาหะดั๊กหรือไม้กันผี ๗ อันที่นำไปปัก ๗ ทิศรอบหมู่บ้าน ยกเว้นทิศตะวันตกอันถือเป็นทางสัญจรของวิญญาณบรรพบุรุษ เสมือนหนึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของพี่น้องทั้ง ๗ ที่ถูกส่งมาปกปักรักษาชาวอูรักลาโว้ย พวกเขาจะดูแลหมู่บ้านและผู้คนให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดฤดูกาล จนกว่าจะถึงฤดูกาลใหม่ที่จะมีพิธีกรรมกันอีกครั้ง
ความเชื่อเลข ๗ ไม่ได้มีอยู่ในกลุ่มชนอูรักลาโว้ยเท่านั้น ในพระคัมภีร์ก็มีเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวโยงกับเลข ๗ อย่างตำนานการสร้างโลกใน ๗ วัน โนอาห์ใช้เวลา ๗ วันในการรวบรวมฝูงสัตว์ตอนน้ำท่วมโลก หรือแม้แต่เครื่องบูชาในพิธีกรรมของคริสต์ศาสนาก็มีสิ่งของ ๗ อย่าง หรือ ๗ ชั่วโมงที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน เช่นนี้เป็นต้น
ถ้าจะเชื่อมโยงถึงตำนานการล้างโลกและสร้างโลกใหม่ ในความเชื่อของอูรักลาโว้ยก็กล่าวถึงคลื่นยักษ์ ๗ ลูกที่ซัดสาดทำลายโลก ดังปรากฎภูเขา ๗ ลูกที่เกิดจากคลื่นยักษ์นี้อยู่ที่เกาะจัม เกาะที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเกาะลันตา และเป็นอีกแห่งที่ชาวอูรักลาโว้ยเคยพำนักมาก่อนกลุ่มชนอื่น
และสุดท้ายตามตำนานของชาวอูรักลาโว้ยนั้นก็ยังกล่าวถึงคลื่นยักษ์ ๗ ลูก ที่จะหวนกลับคืนจากอดีตมาทำลายล้างโลกไปอีกครั้ง
คืนสู่กูนุงเยอรัย
จุดหมายของพิธีกรรมลอยเรือคือมุ่งสู่ กูนุงเยอรัย ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษอูรักลาโว้ย เชื่อว่าตั้งอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งทางทิศตะวันตก ขณะที่นักประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่ค้นคว้าเรื่องนี้สันนิษฐานว่ากูนุงเยอรัยแห่งนี้ อาจจะหมายถึงภูเขากูนุง เจอรัย (Gunung Jerai) ที่รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย บริเวณเชิงเขากูนุงเจอรัยมีหุบเขาบูจัง (Bujang) ที่ตั้งอาณาจักรเก่าแก่ แหล่งกำเนิดอารยธรรมยุควัฒนธรรมพุทธ-ฮินดูรุ่งเรือง ก่อนถึงยุคศาสนาอิสลามของรัฐเคดาห์
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับตำนานของอูรักลาโว้ย ที่มีบันทึกไว้ในงานวิจัยของอาภรณ์ อุกฤษณ์ ว่า “พระเจ้าได้ส่ง นะบีโต๊ะ มาชักชวนให้บรรพบุรุษของเขานับถือพระเจ้า แต่ถูกปิเสธจึงสาปแช่งไว้ จนพวกเขาต้องเคลื่อนย้ายลงมายังชายฝั่งเชิงเขา กูนุงเจอรัย แตกกระสานซ่านเซ็นบ้างไปเป็นคนป่า บ้างกลายเป็นลิง เป็นกระรอก และส่วนหนึ่งเป็นคนของทะเล หรือ อูรักลาโว้ย....”
ชาวอูรักลาโว้ยบ้านสังกะอู้ เกาะลันตา บางคนเคยพูดถึงที่มาของกูนุงเยอรัยว่า หมายถึง เกาะหรือสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของบรรพบุรุษ หรือ เป็นดินแดนหลังความตาย ขยายความว่าเป็นแห่งหนที่อูรักลาโว้ยทุกคนต้องไปให้ถึง บางคนบอกว่า กูนุง คือที่แห่งหนึ่ง ส่วนเยอรัย คือการไปให้ถึง กูนุงเยอรัย จึงหมายถึง พื้นที่ซึ่งต้องไปให้ถึง นั่นเอง
เยอรัย หรือ ยีรัย เป็นคำที่อูรักลาโว้ยใช้เรียกเปลวหรือป่าช้า เป็นพื้นที่ฝังร่างคนตาย น่าจะเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษามลายู อาจเป็นคำที่นำมาจากชื่อยอดเขา กูนุงเจอรัย แห่งรัฐเดคาห์ ซึ่งอีกนัยหนึ่งอาจจะเป็นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของ อูรักลาโว้ย ก่อนการอพยพโยกย้ายครั้งสำคัญซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าและหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ หรืออีกมุมหนึ่ง กูนุงเยอรัย ก็อาจจะเป็นดินแดนในจินตนาการที่บรรพบุรุษเล่าขานมาแสนนานก็มีความเป็นไปได้
แต่ไม่ว่าจะมีที่มาจากไหนอย่างไร กูนุง เยอรัย ของอูรักลาโว้ย เกาะลันตา ก็คือดินแดนที่บรรพบุรุษรอคอยพวกเขาอยู่ เป็นจุดดั้งเดิมที่เรือไม้ระกำลำน้อย ปาจั๊ก จะนำพาเคราะห์ร้ายทั้งหลายในรอบปีของพวกเขาคืนกลับไปชำระล้าง และสุดท้ายเป็นที่ที่พวกเขาชาวอูรักลาโว้ยทุกคนต้องคืนกลับไปตามพันธสัญญาแห่งธรรมชาติและชาติพันธุ์นั้นเอง
เรื่อง/ภาพ : จิตติมา ผลเสวก
Hits: 1354