หน้ากาล-เกียรติมุข-ราหู

หากใครได้ไปเยือนศาสนสถานของอินโดนีเซียทั้งบนเกาะชวาและบาหลี รวมถึงบรรดาปราสาทหินหรืออิฐในวัฒนธรรมเขมร อาจเคยสังเกตเห็นสัตว์ประหลาดหน้าตาดุร้ายที่ประดับเหนือทางเข้าศาสนสถาน ในเมืองไทยเรียกสัตว์ประหลาดนี้ว่า “หน้ากาล” หรือ “เกียรติมุข” ส่วนผู้คนบนเกาะบาหลีรู้จักกันในนาม “บารอง”
กำเนิดหน้ากาล
คติความเชื่อเรื่องหน้ากาลนี้ ดั้งเดิมเป็นวัฒนธรรมฮินดูจากอินเดียที่แพร่หลายเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน และในแต่ละวัฒนธรรมได้นำมาปรับใช้ให้มีรูปแบบแตกต่างกันไปตามความเชื่อและรสนิยมทางศิลปะของตน
เรื่องราวของหน้ากาล หรือ เกียรติมุข หรือกีรติมุข ปรากฏในคัมภีร์ปัทมปุราณะของฮินดูว่า ครั้งหนึ่งพญายักษ์ชลันธร ซึ่งบำเพ็ญตบะจนได้รับพรจากพระศิวะ ไม่มีผู้ใดสู้ได้ ได้เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกับอสูรราหู แล้วกล่าวจาบจ้วงว่าผู้ใดพ่ายแพ้จะต้องไปขอพระอุมา ชายาพระศิวะ มาให้แก่ฝ่ายชนะ เมื่อราหูแพ้จึงต้องจำใจบากหน้าไปขอพระอุมาตามสัญญา พระศิวะได้ฟังก็พิโรธอย่างยิ่งจนบังเกิดยักษ์หน้าสิงห์ออกมาจากระหว่างพระขนง ตรงเข้าไปจะทำร้ายราหูเป็นการสั่งสอน เมื่อราหูเห็นดังนั้นจึงอ้อนวอนขอให้พระศิวะทรงช่วยเหลือ โดยอ้างว่าตนเองเป็นเพียงทูตเท่านั้น พระศิวะทรงสงสารจึงห้ามยักษ์มิให้ทำร้าย ยักษ์นั้นก็เชื่อฟัง แต่ทูลว่าตนหิวมาก ขอกินสิ่งอื่นแทน พระศิวะจึงทรงสั่งให้ยักษ์กินร่างของตนเองเป็นอาหาร พระศิวะเมื่อทอดพระเนตรเห็นยักษ์ที่กัดกินตนเองจนหมด เหลือแต่หัว ไม่มีร่าง ไม่มีแขนขา ก็บังเกิดความสลดพระทัย และทรงเห็นโทษของความโกรธ จึงประทานนามแก่ยักษ์นั้นว่า “เกียรติมุข” (หน้าซึ่งมีเกียรติ) และทรงมอบหน้าที่ให้เฝ้าประตูวิมานของพระองค์ ทั้งยังประทานพรว่า หากผู้ใดไม่แสดงความเคารพเกียรติมุข ก็จะไม่ได้รับพรจากพระองค์ รวมทั้งเป็นการเตือนสติมวลมนุษย์ให้รู้จักยับยั้งความโกรธ ดังนั้นคำว่า “กาล” หรือ“กาละ” ในอีกความหมายหนึ่งคือ “เวลา” มีนัยว่าเวลาย่อมกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง ดังที่อสูรตนนี้กลืนกินแม้กระทั่งร่างของตนเอง
ลายหน้ากาลนอกจากมีความหมายในลักษณะผู้ปกป้องดูแลรักษามิให้สิ่งชั่วร้ายเข้าไปภายในศาสนสถานแล้ว ยังอาจมีความหมายโดยสมมุติถึงดินแดนสัตว์หิมพานต์ เชิงเขาพระสุเมรุ สอดคล้องกับคติการจำลองภูมิจักรวาลที่ถ่ายทอดสู่พุทธศาสนสถานด้วย
บารอง หน้ากาลในคติความเชื่อบาหลี
ฐานที่มั่นอันแข็งแกร่งของศาสนิกชนฮินดูในอินโดนีเซียคือเกาะบาหลี เกาะเล็กๆ ที่มีพลเมืองอยู่ราว ๔ ล้านคน ท่ามกลางวงล้อมของชาวมุสลิมที่มีอยู่มากถึงร้อยละ ๘๗ จากประชากรทั้งหมดกว่า ๒๓๐ ล้านคนของอินโดนีเซีย
ตามศาสนสถาน วัง และบ้านเรือนของชาวบาหลี มักสร้างซุ้มประตูทางเข้าชั้นนอกที่มีลักษณะคล้ายประตูที่ถูกผ่าครึ่งแยกออกจากกัน เรียกว่า “จันทิ เปินตัร” ซึ่งเปรียบเสมือนเขาไกรลาส ที่ซึ่งพระศิวะประทับบำเพ็ญเพียรจนบรรลุโมกษะ (การรู้แจ้งหรือการบรรลุธรรม) แล้วจึงเกิดปาฏิหาริย์ ภูเขาไกรลาสแยกออกเป็นสองส่วน กลายเป็นประตูสองข้างดังกล่าว จึงถือเป็นประตูแห่งความรู้แจ้งทางปัญญาของชาวบาหลี ประตูแยกนี้ยังหมายถึงความสมดุลของโลกคือหญิงกับชาย ความดีกับความชั่ว
เมื่อผ่านประตูชั้นแรกเข้ามาแล้ว จะมีประตูชั้นที่สองคือ “มหาเมรุ” หรือ “กูริอากุง” (The gateway to the heaven) มีรูปลักษณ์คล้ายภูเขา และมีประตูทางเข้าอยู่ตรงกลาง ซึ่งหมายความว่าเมื่อชำระล้างจิตใจให้สะอาด โดยผ่านประตูแห่งความดี-เลวมาแล้ว ก็สามารถเดินเข้าประตูสู่ศาสนสถานชั้นในสุด เปรียบดั่งทิพยวิมานบนยอดเขาพระสุเมรุบนสรวงสวรรค์ ภายในเป็นที่ตั้งศาลสำหรับเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าชั้นสูงสุด คือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม ในวันปกติ ประตูที่สองนี้ปิดอยู่เสมอ ถ้าจะเดินผ่านต้องเข้าประตูเล็กทางซ้ายและขวา ส่วนประตูใหญ่ตรงกลางซึ่งถือเป็นประตูแห่งสรวงสวรรค์ จะเปิดเฉพาะเมื่อมีงานสำคัญทางศาสนาหรือในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองเท่านั้น
เหนือประตูกูริอากุง หรือ “มหาเมรุ” มักมีลวดลายปูนปั้นคล้ายรูปหน้ากาลหรือเกียรติมุขประดับอยู่ทุกประตู ชาวบาหลีเรียกว่า “บารอง” เปรียบเป็นตัวแทนแห่งคุณธรรมความดี และถือเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องอำนาจภูตผีวิญญาณชั่วร้ายทั้งมวล ชาวบาหลียังเชื่อว่าประตูที่มีบารองประดับไว้ คือประตูแห่งความตายของผู้โง่เขลา ผู้ประกอบด้วยอวิชชา คือความมืดบอดในจิตใจ มาบดบังความดีงาม ขณะเดียวกันก็เป็นประตูแห่งชีวิตของผู้รู้แจ้ง การเดินผ่านเข้าประตูนี้จึงเท่ากับเอาอวิชชาในใจตนมาให้หน้ากาลกลืนกิน เพิ่มพูนสิริมงคลแก่ชีวิต
พลังอำนาจของเกียรติมุขหรือหน้ากาลตามความเชื่อในคติฮินดูยังส่งอิทธิพลให้แก่พุทธสถานด้วย ดังปรากฏการประดับรูปหน้ากาล ณ บุโรพุทโธ บนเกาะชวาภาคกลาง พุทธศาสนสถานในลัทธิมหายานที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้สร้างขึ้นราว พ.ศ. ๑๓๕๐ โดยกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ ซึ่งน่าจะมีความเชื่อตามคติเรื่องลมหายใจศักดิ์สิทธิ์และคติเรื่องกาลเวลา ซึ่งตามความหมายของหน้ากาลหรือกาละ ซึ่งหมายถึงผู้กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถเข้ากันได้กับพุทธศาสนา จึงนิยมประดับลายหน้ากาลไว้ที่ซุ้มประตูทางเข้าพุทธสถาน
หน้ากาลประดับศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร
อารยธรรมเขมรโบราณได้รับอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาจากอินเดียอย่างมาก รวมทั้งคติความเชื่อเรื่องหน้ากาลหรือเกียรติมุข ซึ่งมักปรากฏตามศาสนสถานเช่นกัน ลายหน้ากาลนี้เป็นลวดลายสำคัญและแพร่หลายมากในศิลปะเขมรทั้งที่พบในประเทศกัมพูชาและไทย มักปรากฏอยู่ตามทับหลังหรือหน้าบันเหนือประตูทางเข้า เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายมิให้เข้ามาสู่ศาสนสถานเป็นสำคัญ
ในบางยุค ลายหน้ากาลที่มองเห็นทางด้านหน้าเป็นลวดลายสำคัญที่ปรากฏอยู่โดดๆ โดยไม่มีรูปเทวดาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยอยู่ตรงกลางทับหลัง และมักจะคายท่อนพวงมาลัยที่ตกแต่งด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งน่าจะเป็นการผสมผสานระหว่างคติเรื่องลมหายใจศักดิ์สิทธิ์ ร่วมกับรูปแบบศิลปะในท้องถิ่นที่นิยมทำลายพวงมาลัย ซึ่งพวงมาลัยในคติอินเดียหมายถึงความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง ดังเช่นที่ปรากฏบนทับหลัง ศิลปะแบบพระโค ที่ปราสาทหินพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา หรือทับหลังศิลปะเกลียงที่ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น
ในสมัยต่อมา หน้ากาลจะมีเทวดาประทับภายในซุ้มเรือนแก้วอยู่ข้างบน ลายลักษณะนี้นิยมมากบนทับหลังในศิลปะแบบบาปวน นครวัด และบายน ถ้าหน้ากาลมองเห็นด้านข้าง เช่นหน้ากาลตามกรอบหน้าบัน มักคายรูปสัตว์ เช่นสิงห์หรือนาค และมีขากรรไกรล่าง ส่วนหน้ากาลที่หันหน้าตรงและปรากฏอยู่ตรงกลางทับหลังนั้น ในศิลปะเขมรสมัยแรกๆ บางครั้งจะสลักลายหน้ากาลที่มีแขนหรือช่วงแขนเข้ามาประกอบด้วย แต่ในสมัยหลังตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา หน้ากาลมักจะมีแขนเสมอ จนกระทั่งในราวกลางพุทธศตวรรรษที่ ๑๗ หน้ากาลมีเขี้ยวคู่หนึ่งงอกออกมาจากปาก และหน้ากาลได้วิวัฒนาการกลายเป็นหน้าสิงห์หรือสิงหมุขอย่างแท้จริง เพราะมีริมฝีปากล่าง นอกจากนั้นเราจะเห็นลายหน้ากาลกับลายมกรอาจแทนที่กันได้ตามปลายของกรอบหน้าบัน ลูกกรง และท่อน้ำ
ราหูตามคติความเชื่อฮินดู-พุทธ
ตามความเชื่อของชาวฮินดู ราหูเป็นหนึ่งในเทพนพเคราะห์ ผู้ก่อให้เกิดการเกิดคราสของพระอาทิตย์และพระจันทร์ โดยมีเรื่องราวปลีกย่อยทั้งที่แตกต่างและคล้ายคลึงกันในแต่ละคัมภีร์ บางคัมภีร์เล่าว่าราหูเป็นอสูรตนหนึ่งที่ไปแอบดื่มน้ำอมฤตซึ่งได้จากการกวนเกษียรสมุทร แต่พระอาทิตย์กับพระจันทร์มาพบเข้า จึงฟ้องพระนารายณ์ พระองค์จึงลงโทษโดยเอาจักรขว้างตัดกายราหูออกเป็นสองส่วน แต่จากการที่ราหูได้ดื่มน้ำอมฤตไปแล้วจึงกลายเป็นอมตะ เพียงแต่ไม่มีท่อนล่าง นับแต่นั้นมา ด้วยความอาฆาตแค้น เมื่อพระจันทร์และพระอาทิตย์โคจรมาใกล้ ราหูก็จะคอยจับเข้าปากกลืนกินเสีย แต่แล้วก็ต้องหลุดออกทางท้องทุกทีไป กลายเป็นตำนานอธิบายปรากฏการณ์สุริยคราสและจันทรคราส
คติเรื่องราหูคงเป็นมุขปาฐะที่ไทยรับมาจากชาวอินเดีย ในเอกสารทางพุทธศาสนาเรียกราหูว่า “อสุรินทระ” เป็นพญาอสูรที่น่าเกรงขาม มีร่างกายใหญ่โต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้ามีกล่าวไว้ในหลายคัมภีร์ เช่น ในจันทปริตรและสุริยปริตร กล่าวไว้ว่า จันทเทวบุตรและสุริยเทวบุตรถูกอสุรินทรราหูจับ ด้วยมีเหตุเคียดแค้นกันมาแต่ชาติปางก่อน จึงพากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร เพื่อขอพระองค์เป็นที่พึ่ง พระองค์จึงตรัสให้อสุรินทรราหูปล่อยทั้งสององค์เสีย อสุรินทรราหูจึงยอมปล่อยเพราะกลัวว่าศีรษะของตนจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง และชีวิตจะไม่ได้รับความสุข ส่วนในคัมภีร์ทางล้านนากล่าวว่า เมื่อราหูยังไม่ได้ฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ก็มักจะกลืนกินเทวบุตรทั้งสองเสมอ ต่อเมื่อได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าจึงไม่ได้กลืนกินอีก ได้แต่เอาฝ่ามือดึงคางมาทับทรวงอก แล้วแลบลิ้นเลียอยู่เท่านั้น
หลายตำนานที่เกี่ยวกับราหูมักกล่าวว่าราหูเป็นอสูร ดังนั้นรูปแบบทางศิลปกรรมของราหูจึงมีหน้าเป็นอสูรหรือยักษ์ ส่วนตำนานที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย คือการที่ราหูถูกตัดออกเป็นสองท่อน ดังนั้นราหูในศิลปะไทยจึงมีหน้าเป็นยักษ์ มงกุฎและเครื่องทรงก็เป็นแบบของฝ่ายยักษ์ สีกายมีทั้งสีเนื้อและสีเขียว หากทำครึ่งท่อน นิยมแสดงให้เห็นเฉพาะส่วนแขนและมือ บางครั้งมีลำตัวท่อนบนปรากฏให้เห็นบ้าง รูปแบบทางศิลปกรรมของราหูจึงไปคล้ายกับหน้ากาลหรือเกียรติมุข ซึ่งเป็นอสูรหน้ายักษ์เช่นกัน
กบกินเดือน
ความเชื่อเรืองกบกินเดือนคงเป็นความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมของชนชาติไทก่อนที่เรื่องราหูของอินเดียจะแพร่เข้ามา เพราะคนไทในเวียดนาม ลาว จีน พม่า และไทย มีความเชื่อเรื่องกบกินเดือน โดยกำหนดให้กบเป็นความหมายของเทพฝ่ายธรรมและเดือนเป็นเทพฝ่ายอธรรม (ผู้ลักขโมย) ดังปรากฏในวรรณกรรมอีสานว่าชายผู้หนึ่งได้ไปพบเปลือกไม้วิเศษ ซึ่งหากนำมาเคี้ยวแล้วพ่นใส่สัตว์ที่ตายแล้วก็จะสามารถฟื้นขึ้นมาได้ ต่อมาได้ถูกพระจันทร์ขโมยไป กบตัวหนึ่งซึ่งชายคนนั้นเคยชุบชีวิตให้จึงอาสาไปติดตามนำยามาคืนให้ แต่พอกบเข้าไปใกล้พระจันทร์เมื่อใด ชาวบ้านนึกว่ากบจะกินพระจันทร์ เลยพากันตีฆ้องกลองช่วยพระจันทร์ กบจึงไม่สามารถนำยากลับมาคืนได้ แต่กบก็ยังพยายามอยู่ตลอดมา
การกำหนดให้กบเป็นเทพฝ่ายดีก็เนื่องมาจากความเชื่อดั้งเดิมที่ว่ากบหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาเมื่อรับคติฮินดูเข้ามาจึงรับเอาวรรณกรรมและมุขปาฐะเรื่องราหูอมจันทร์เข้ามา เมื่อผสมผสานกับความเชื่อแบบพุทธ ก็ทำให้ทัศนคติของคนพื้นเมืองเปลี่ยนไป โดยกำหนดให้กบเป็นราหูเป็นเทพฝ่ายอธรรม และเดือนหรือพระจันทร์เป็นเทพฝ่ายธรรมแทน
จะเห็นได้ว่าคติความเชื่อในเรื่องของหน้ากาลหรือเกียรติมุข และราหูตามแบบศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาในอุษาคเนย์ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียที่กระจายไปอย่างกว้างขวาง และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของชนพื้นเมืองในอุษาคเนย์ตราบจนถึงทุกวันนี้
ภาพ/เรื่อง : ปาริสุทธิ์ เลิศคชาธาร
Hits: 735