เรื่องเล่าแห่งแสงและเงา พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง บ้านหนังสุชาติ ทรัพย์สิน

ชวนเยือนพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงบ้านหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ ฟังเรื่องเล่าแห่งแสงและเงา การแสดงพื้นบ้านที่ชาวปักษ์ใต้ชื่นชอบ
“ทำงานเพื่อตัว จะหมองมัวชั่วชีวิต ทำงานเพื่ออุทิศ สิ้นชีวิตชื่อยังอยู่”
เป็นบทกวีสั้นๆ ของนายสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ หรือที่รู้จักของคนทั่วไป “หนังสุชาติ” นายหนังตะลุงชื่อดัง ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ใช้บทกวีดังกล่าว เป็นแนวทางในการทำงานสอนภรรยาและลูกๆ ให้ยึดหลักการทำงานให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
แรงบันดาลใจก่อเกิดพิพิธภัณฑ์
หนังสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นช่างแกะหนังตะลุงที่สนใจเรียนรู้การทำรูปหนังตะลุงมาตั้งแต่ อายุ ๑๐ ขวบ และสามารถทำรูปหนังตะลุงกระดาษเป็นของเล่นเด็ก และทำรูปหนังตะลุงด้วยหนังสัตว์ ขายให้แก่นายหนังเพื่อใช้ในการแสดงหนังตะลุงมาตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี และฝึกฝนการแสดงหนังตะลุงด้วยตนเอง สามารถแสดงหนังตะลุง สร้างความสุข ความบันเทิงให้แก่ผู้ชมมาตั้งแต่ อายุ ๑๕ ปี ด้วยความขยัน มุ่งมั่น และใฝ่รู้เกี่ยวกับการแกะสลักรูปหนังตะลุง ทำให้หนังสุชาติมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนในสังคมว่า “เป็นช่างทำรูปหนัง” และ “นายหนังตะลุง” ที่โดดเด่นกว่าช่างหนัง หรือนายหนังคนอื่นๆ เพราะส่วนมากคนที่แกะสลักรูปหนังตะลุงไม่สามารถเล่นหนังตะลุงได้ ส่วนนายหนังส่วนมากก็จะแกะสลักรูปหนังตะลุงไม่เป็น ศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุงเคยเป็นที่นิยมของชาวปักษ์ใต้เป็นอย่างสูง หนังสุชาติเคยเล่าว่าในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ - พ.ศ. ๒๕๑๕ ใน ๑ เดือนจะมีงานแสดงหนังตะลุงประมาณ ๒๐ ครั้ง โดยรับงานแสดงไปทั่วภาคใต้ เหตุที่มีโอกาสได้แสดงมากเพราะในยุคนั้น มหรสพหรือการแสดงที่ให้ความบันเทิงมีแต่หนังตะลุง โนราและลิเกป่า เท่านั้น จากนั้นประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ ถึงปัจจุบัน การแสดงศิลปะพื้นบ้านลดน้อยลง เพราะมีสื่อบันเทิงแขนงอื่น ประเภทหนังกลางแปลง ดนตรีลูกทุ่ง ลิเก เข้ามามีบทบาทและเป็นตัวเลือกทางด้านสื่อบันเทิงให้กับคนในสังคมมากขึ้น ทำให้หนังตะลุงและโนรารวมถึงการแสดงพื้นบ้านอื่นๆ ขาดโอกาสทางการแสดง และค่อยๆเสื่อมไป
หนังสุชาติเปิดทำการแสดงหนังตะลุงเรื่อยมา จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๒๗ นับเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของหนังสุชาติ ทรัพย์สิน เพราะได้มีโอกาสแสดงหนังตะลุงต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ หลังจากแสดงเสร็จ หนังสุชาติได้ถวายรูปหนังตะลุงที่ใช้แสดงพร้อมเครื่องดนตรีทั้งชุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระองค์ทรงพระเมตตาตรัสถามถึงประวัติความเป็นมาของการแสดงหนังตะลุง การแกะสลักรูปหนังตะลุง โดยเฉพาะรูปตัวตลกหนังตะลุง พระองค์ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ ได้ถามถึงบุคลิก นิสัย บทบาทในการแสดงของรูปหนังแต่ละตัว และพระองค์ได้ทรงรับสั่งกับหนังสุชาติว่า
“...ขอบใจที่รักษาของเก่าไว้ให้ อย่าหวงวิชา ช่วยเผยแพร่ และช่วยถ่ายทอด” พระกระแสรับสั่งในคราวนั้น เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ก่อให้เกิดแนวคิดในการศึกษา ค้นคว้า เรื่องหนังตะลุงทุกมิติของหนังสุชาติ และนำไปสู่การเปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง บูรณาการความรู้ทักษะการแกะสลักรูปหนังตะลุง และการแสดงหนังตะลุง จัดกิจกรรมอนุรักษ์สืบสานและการถ่ายทอดภูมิปัญญาหนังตะลุง จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องหนังตะลุงในที่สุด
เรื่องเล่าแห่งแสงและเงา
พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงบ้านหนังสุชาติ ทรัพย์สิน เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องหนังตะลุง จัดตั้งขึ้นโดย นายสุชาติ ทรัพย์สิน และครอบครัว เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๐ จากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่มีชีวิตอันทรงคุณค่าจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นบ้านหลังที่ ๑๒ ในโครงการเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ เมื่อพ.ศ. ๒๕๕๔ ปัจจุบันประกอบด้วยอาคารนิทรรศการ ๒ ชั้น ชั้นบนจัดทำเป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช จัดแสดงเกี่ยวกับภาพหนังสุชาติ เมื่อครั้งที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ รวบรวมพระราชกรณียกิจการเสด็จฯ เมืองนครศรีธรรมราช ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ จำนวน ๑๗ ครั้ง และรวบรวมบทกลอนหนังตะลุงจากศิลปินหนังตะลุงชั้นครู ในการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ ๙ และมีพื้นที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของตัวตลกหนังตะลุง พร้อมแกะสลักรูปหนังตะลุงให้มีขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้มาเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช
นอกจากนั้นยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์ จำนวน ๒ หลัง หลังแรก เป็นอาคารไม้ลักษณะทรงไทยภาคใต้ ใช้จัดแสดงโบราณวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ในท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราชและในจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ เช่น เครื่องทองเหลือง ศาสตราวุธ เครื่องถ้วยโบราณ เป็นต้น หลังที่ ๒ เป็นอาคาร ๒ ชั้น ใช้จัดแสดงรูปหนังตะลุงโบราณ ที่มีอายุไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปี เช่น รูปตัวตลกต่างๆ รูปหนังตะลุงภาคกลาง หนังตะลุงภาคอีสาน หนังตะลุงชาวไทยมุสลิม รวมถึงรูปหนังตะลุงนานาชาติจากประเทศจีน อินเดีย ตุรกี มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งยังมีเครื่องดนตรีหนังตะลุงโบราณ อายุ ๑๕๐-๒๐๐ ปี และรูปหนังตะลุงที่เก่าแก่ที่สุดของภาคใต้
ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงบ้านหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ยังมีโรงหนังตะลุงขนาดมาตรฐานที่จุผู้ชมได้นับร้อย นอกจากเป็นสถานที่จัดแสดงแล้วยังเป็นพื้นที่ฝึกอบรมผู้สนใจให้มีทักษะทั้งการใช้เสียง การเชิดรูป การพากย์ และการพากย์พร้อมดนตรี ผู้เข้าชมนอกจากจะได้สัมผัสกับโลกของศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุงแล้ว อีกประสบการณ์หนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ก็คือ การได้ลงมือหัดแกะสลัก ระบายสีหนังตะลุงตัวจิ๋วเป็นของที่ระลึกกลับไป แต่หากต้องการเรียนรู้เต็มรูปแบบ ที่นี่ก็มีหนังตะลุงขนาดที่ใช้ในการแสดงจริงให้หัดทำ ความรู้ทั้งในงานด้านช่างและการแสดงเหล่านี้ครอบครัวทรัพย์สินตั้งใจถ่ายทอดเป็นวิทยาทานให้กับผู้ที่สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ผลจากการที่ได้จัดภูมิทัศน์ให้บริเวณบ้านเป็นสถานที่เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำรูปหนังตะลุง การแสดงหนังตะลุง และมีพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง และจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ สื่อมวลชน และนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม โดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ มาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี บ้านหนังสุชาติ ทรัพย์สิน จึงได้รับการพิจารณาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรมดีเด่นของประเทศไทย จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (THAILAND TOURISM AWARDS) ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ และในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม (THAILAND TOURISM AWARDS) ประเภท แหล่งเรียนรู้และนันทนาการ
หนังสุชาติ ทรัพย์สิน ได้จากไปในวัย ๗๙ ปี เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ วันที่พ่อเสีย มีสื่อมวลชนได้โทรมาถามผมซึ่งเป็นบุตรชาย (วาที ทรัพย์สิน) ด้วยความห่วงใยว่า “หนังสุชาติ จากไป โดยไม่ได้สั่งเสีย พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงจะปิดหรือไม่” ผมได้ฟังคำถามแล้วตอบไปด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่นว่า “พ่อไม่จำเป็นต้องสั่งเสีย เพราะสั่งสอนลูกไว้เยอะ” พิพิธภัณฑ์ยังคงเปิดให้บริการถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลที่เข้าไปเยี่ยมชมอย่างมุ่งมั่นและยั่งยืนสืบไป เป็นคำตอบที่ยืนยันแก่สังคมว่า หนังสุชาติได้สร้างทายาททางวัฒนธรรมที่จะสานต่องานของพ่อต่อไปไว้ได้แล้ว
ทุกวันนี้ แม้ว่าหนังสุชาติจะจากไป แต่ภารกิจที่มุ่งมั่นเพื่อถ่ายทอดความรู้ อนุรักษ์ สืบสานงานช่าง และสร้างศิลปินนักแสดงหนังตะลุงให้ดำรงอยู่คู่สังคมก็คงดำเนินต่อไป มีลูกๆ และลูกศิษย์ของหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ยังรวมพลังร่วมกันทำหน้าที่ในการสานต่ออุดมการณ์ของพ่อเพื่อให้พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยั่งยืนของสังคมสืบไป
พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง บ้านหนังสุชาติ ทรัพย์สิน เลขที่ ๖ ซอยศรีธรรมโศก ๓ ถนนศรีธรรมโศก ตำบลในเมือง อำเภอในเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ๘๐๐๐๐ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ติดต่อสอบถามเพื่อเข้าชม โทร. ๐ ๗๕๓๔ ๖๓๙๔
บ้านศิลปินแห่งชาติและผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม เป็นแหล่งสั่งสมองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย ที่สื่อผ่านผลงานและตัวตนของศิลปินแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม บ้านศิลปินแห่งชาติฯ จึงมีประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมในหลายสถานะด้วยกัน ได้แก่ เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งสาธารณชนจะได้รับรู้ถึงภูมิปัญญาที่แสดงถึงอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของศิลปินแห่งชาติและผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม และเป็นพลังผลักดันให้คนในชุมชนท้องถิ่นและสังคมไทยเห็นความสำคัญในศิลปวัฒนธรรมของตน ทั้งที่เป็นบุคคล วัตถุสิ่งของ ตลอดจนถึงสถานที่ต่างๆ ว่า สามารถก่อให้เกิดคุณค่าทางสังคมและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้คนไทยเกิดการหวงแหน ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป ปัจจุบันมีบ้านศิลปินแห่งชาติฯ จำนวน ๒๓ หลัง ที่เปิดให้ประชาชนเข้าชื่นชมงานศิลป์ตามความสนใจ ทั้งด้านวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ และศิลปะการแสดง
เรื่อง : วาที ทรัพย์สิน
ภาพ : ศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช