อังคาร กัลยาณพงศ์

อังคาร กัลยาณพงศ์ จิตรกรกวีศรีแผ่นดิน
ฉันเอาฟ้าห่มให้ หายหนาว
ดึกดื่นกินแสงดาว ต่างข้าว
น้ำค้างพร่างกลางหาว หาดื่ม
ไหลหลั่งกวีไว้เช้า ชั่วฟ้าดินสมัยฯ
พลีใจเป็นป่าช้า อาถรรพณ์
ขวัญลิ่วไปเมืองฝัน ฟากฟ้า
เสาะทิพย์ที่สวรรค์ มาโลก
โลมแผ่นทรายเส้นหญ้า เพื่อหล้าเกษมศานต์ฯ
ปณิธานกวี
กวีนิพนธ์ข้างต้นเป็นบางส่วนจากผลงานการประพันธ์โดย อังคาร กัลยาณพงศ์ เรื่องปณิธานกวี ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือรางวัลซีไรต์ ประจำปี ๒๕๒๙ อันแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ท่านจะลาลับไปแต่ยังคงฝากไว้ซึ่งผลงานอันทรงคุณค่าและเป็นเอกลักษณ์ ที่มอบข้อคิดและเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักประพันธ์และจิตรกรรุ่นหลังได้สร้างสรรค์ผลงานต่อไป
กำเนิดเกิดก่อศิลปิน
อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นบุตรของนายเข็บและนางขุ้ม เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวัยเด็กเขาเคยเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ แต่ครั้งนั้นมีหมอท่านหนึ่งทดลองรักษาด้วยสมุนไพรจนอาการของเด็กชายอังคารหายเป็นปกติ
เมื่อเข้าสู่วัยเรียนได้เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดใหญ่และโรงเรียนวัดจันทาราม ส่วนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนพระพุทธเจ้าหลวงอุปถัมภ์และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในส่วนของงานประพันธ์นั้น ส่วนหนึ่งเขาอาจถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กที่มีพื้นเพเดิมเป็นคนเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีผู้กล่าวว่าเป็นเมืองแห่งกาพย์กลอน และที่บ้านของเขามีหนังสือมากมาย โดยเฉพาะบทกลอน เขาต้องอ่านวรรณคดีให้แม่ฟังอยู่เสมอ จึงทำให้เขารักวรรณคดี หลงใหลในกาพย์กลอนเป็นชีวิตจิตใจ ความเป็นกวีจึงเป็นพรสวรรค์ที่เขาเชื่อมั่นและฝึกฝนมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม
จากนั้นเขาได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาศึกษาวิชาศิลปะและหัตถกรรมที่โรงเรียนเพาะช่าง ต่อมาได้ย้ายมาเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรมประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศิษย์ของอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ในด้านงานจิตรกรรมนั้น ท่านอังคารเรียนวิชาวาดเขียนได้คะแนนดีมาโดยตลอด จนได้รับคำบันทึกจากคุณครูเขียนลงในสมุดรายงานว่า เป็นผู้มีใจรักและฝักใฝ่ในวิชาวาดเขียน เขามองว่าการวาดเขียนถึงแม้จะไม่ได้เงินทองมาก แต่จะมีประโยชน์ไปบริการทางวิญญาณ จะทำให้วิญญาณมนุษย์ดีขึ้น แต่เมื่อศึกษาอยู่ถึงชั้นปีที่ ๓ ได้ตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัย
จากนั้นเขาได้ตระเวนเรียนรู้และสร้างสรรค์การวาดภาพและเขียนบทกวี วิชาแขนงหนึ่งที่ท่านมีโอกาสได้ศึกษาคือ ศิลปะไทยโบราณกับอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ โดยติดตามอาจารย์เดินทางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อคัดลอกภาพจิตรกรรมที่ศรีสัชนาลัย สุโขทัย อยุธยา เพชรบุรี ฯลฯ อันเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ท่านได้ศึกษาและร่วมมีส่วนช่วยฟื้นฟูศิลปะไทยอีกหนทางหนึ่ง
ระหว่างนั้นท่านได้พบปะทำความรู้จักกับศิลปินและกวีร่วมยุคสมัยหลายคน กระทั่งมีผลงานบทกวีตีพิมพ์ในหนังสือ “อนุสรณ์น้องใหม่” มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาได้พบกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส. ศิวรักษ์) ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการคนแรกของ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ทำให้บทกวีของอังคาร กัลยาณพงศ์ ได้พิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางมากขึ้น ผลงานที่จัดพิมพ์สร้างความตื่นตัวให้กับวรรณกรรมไทยมาเนิ่นนาน เช่น กวีนิพนธ์ (๒๕๐๗) ลำนำภูกระดึง (๒๕๑๒) บางกอกแก้วกำสรวลหรือนิราศนครศรีธรรมราช (๒๕๑๒) สวนแก้ว (๒๕๑๕) ความเป็นกวีและจิตรกรนั้นจึงเป็นสิ่งที่ท่านอังคารเชื่อมั่น
และมีโอกาสฝึกฝนมาแต่ครั้งวัยเยาว์ ท่านกล่าวถึงการเป็นจิตรกรและกวีของตนไว้ว่า จิตรกรรมและบทกวีนั้นมาจากดวงใจดวงเดียวกันอุทิศชีวิตสู่งานศิลป์
นับได้ว่าท่านเป็นผู้มีพรสวรรค์ทั้งด้านกวีและจิตรกรรม จนได้รับสมญานามว่า “กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เป็นผู้ชุบชีวิตขนบวรรณศิลป์โบราณให้เติบโตสอดคล้องกับวรรณศิลป์ร่วมสมัย และมุ่งสร้างสรรค์บทกวีที่เตือนมนุษย์ให้ออกจากความโง่เขลาเพื่อมุ่งสู่หนทางแห่งปัญญา โดยการพินิจธรรมชาติและเรียนรู้ธรรมะจากธรรมชาติ สุนทรียภาพทางภาษาของท่านที่มีความแปลกแตกต่างจากผู้อื่น คือมีความแข็งกร้าวและโลดโผน บางครั้งใช้ฉันทลักษณ์ที่ไม่ตายตัว
กล่าวได้ว่า อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นผู้อุทิศเจตนารมณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานทั้งทางด้านวรรณศิลป์และจิตรกรรม งานของเขาแสดงถึงอัตลักษณ์แห่งตนเองได้อย่างยากหาใครเหมือน เปี่ยมด้วยพลังการสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต ทว่า..ไม่ทอดทิ้งรากเหง้าความเป็นไทยของตน ผลงานทุกชิ้นของเขาสะท้อนถึงแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่มาจากเจตนารมณ์แห่งโลกมนุษย์มีความมุ่งหวังอย่างแรงกล้าในการเสียสละและอุทิศตนให้กับงานศิลปะและวรรณกรรม ดังการปวารณาตนจะเวียนว่ายตายเกิดเพื่อหวนกลับมาเป็นกวีในทุกชาติไป
ผลงานของท่านมีความโดดเด่นทั้งงานจิตรกรรม โดยเฉพาะฝีไม้ลายเส้นในการปาดเครยองได้อย่างเฉียบคม เปี่ยมด้วยพลัง มีเอกลักษณ์อย่างยากที่ใครจะลอกเลียน สะท้อนถึงจิตวิญญาณอันแรงกล้าและการรำลึกถึงบรรพบุรุษในทุกเส้นสาย นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นด้านงานวรรณศิลป์ ลีลาการประพันธ์อันแสดงออกในลักษณะเฉพาะของตนเองที่สั่งสมจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน เรียงร้อยเข้ากันกับอารมณ์อันทรงพลัง ทั้งยังแฝงไว้ด้วยปรัชญาอันลึกซึ้ง
“คนอื่นเขาอาจจะไปทำขนมครก
ไปรับเหมาทางด่วน ไปทำอะไรก็ได้
แต่กวีต้องเป็นกวีอยู่ทุกลมหายใจ
คือโดยหลักจริงๆ แล้ว
ผมยังเขียนบทกวีอยู่เรื่อยๆ
จะชำระของที่ดูไม่ค่อยเรียบร้อย
ให้เรียบร้อย ให้หมดจดขึ้น
มีถ้อยคำที่ลงตัว คือพูดง่ายๆ ว่า
ถ้าเราตายไปแล้ว เราก็หมดโอกาส
ที่จะเปิดฝาโลงขึ้นมาชำระโคลงของเราให้เรียบร้อย คนที่เขียนกวี
ถ้าบทกวีชิ้นใดไม่สมบูรณ์
ก็เหมือนเราไปปรโลกแล้วยังมีห่วงอยู่”
กุศลศิลป์จรรโลงใจ
อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้ให้ทัศนะในการทำงานว่า เหมือนการเติบโตของต้นไม้ มันค่อยๆ ขึ้นทีละใบสองใบ ค่อยแตกไปเรื่อยๆ ถึงฤดูกาลก็แตกดอกออกผล ก่อนออกผลก็ออกดอกเสียก่อนไปตามลำดับ เขายืนยันว่าจะไม่ขอทำอย่างอื่นแล้วในชีวิตนี้ จะทำงานเหล่านี้ไปตลอดจนถึงชาติหน้า ทั้งงานศิลปะไม่ว่าจะวาดหรือปั้น รวมถึงงานเขียนบทกวี
ผลงานกวีนิพนธ์เป็นศิลปะซึ่งมุ่งสร้างสรรค์ให้เป็น “กุศลศิลป์” อันช่วยจรรโลงโอบอุ้มจิตใจมนุษย์ให้ล่วงพ้นมลทินแห่งความหลงใหลในวัตถุ มุ่งเตือนมนุษย์ให้เห็นปัญญาในสังคม การทำลายธรรมชาติและการทำลายมนุษย์ด้วยกันเองโดยความเขลา โดยมิได้แสดงถึงปัญหาอย่างสิ้นหวังไร้ทางแก้ไข หากแต่มีความมั่นใจว่า การพินิจธรรมชาติและเรียนรู้ธรรมจากธรรมชาติ จะช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากหายนะภัย อันจะเกิดขึ้นได้จากความเห็นแก่ตัวและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์เอง วรรณศิลป์ที่ใช้เป็นความงาม ความสะเทือนใจ ทำให้ตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติซึ่งเป็นสุนทรียะและ
ทางรอดของมนุษย์ ได้ประกาศหน้าที่ของตนเองในฐานะกวี ด้วยความภาคภูมิใจว่าเป็นสิ่งสูงสุด ความรักความมุ่งมั่นแน่วแน่ในหน้าที่ของกวีที่จะมอบความดีความงามแก่โลกเช่นนี้ ช่วยให้งานมีพลังสร้างสรรค์เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เป็นประโยชน์อันประมาณมิได้แก่สังคมไทยและมนุษย์ทั้งมวล
ผลงานที่ปรากฏสู่สายตาหลากคู่ส่งผลให้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ดีเด่น จากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๒ ท่านได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ท่านเป็นกวี
ร่วมสมัยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น จินตกวีผู้ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวรรณศิลป์และทัศนศิลป์
อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นกวีร่วมสมัยผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้สร้างสรรค์กวีนิพนธ์สมัยใหม่ให้แก่วรรณศิลป์ไทย โดยชุบชีวิตขนบวรรณศิลป์ไทยให้เติบโตสอดคล้องกับวรรณศิลป์ร่วมสมัย โดยการศึกษาวรรณศิลป์จากกวีโบราณเพื่อเข้าใจแก่นแท้ของสุนทรียะทั้งด้านความงามและความคิด และนำความเข้าใจนี้มาเป็นฐานรองรับการสร้างสรรค์วรรณศิลป์เฉพาะตนขึ้น
ด้วยใจรักของจินตกวี
เรื่องราวด้านความรักและครอบครัวของอังคาร กัลยาณพงศ์ ท่านสมรสกับคุณอุ่นเรือน มีบุตรด้วยกันสามคน บุตรชายหนึ่งคน บุตรสาวสองคน โดยท่านสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมและงานประพันธ์ทั้งร้อยกรองและร้อยแก้วเป็นอาชีพ หลายคนอาจรู้จักท่านในมุมของกวีเเละจิตรกร ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ธรรมดา หรือจะด้วยความใดๆ ก็ตามเเต่มุมมองของเเต่ละคน หลายเเหล่งข้อมูลกล่าวถึงท่านในฐานะผู้ที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคม ใครต่อใครอาจมองว่าชายคนนี้เป็นผู้เข้าถึงยาก เเต่ในอีกมุมหนึ่งที่คนทั่วไปไม่เห็น ท่านก็มีชีวิตเหมือนคนทั่วไป เเละยังมีสถานะ “พ่อ” ที่น่ารัก เมื่อความเป็นพ่อรวมเข้ากับความอ่อนไหวเเห่งวิสัยกวี ย่อมมีเรื่องราวให้จดจำมากมาย ทั้งบนความระทึกเเละความนิ่งงัน โดยมีลูกสาวคนหนึ่งเก็บรวบรวมเเละบันทึกช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเคย มี เป็น อยู่ ของพ่ออังคารในมุมที่คนทั่วไปไม่เคยสัมผัส
ปัจจุบันครอบครัวกัลยาณพงศ์ได้ร่วมบันทึกความทรงจำผ่านผลงานต่างๆ ของท่านอังคาร ไว้ในพิพิธภัณฑ์บ้านจิตรกร กวี อังคาร กัลยาณพงศ์ อันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากความตั้งใจของคุณอุ่นเรือน ผู้เป็นภรรยาคู่ชีวิต เพื่อรวบรวมผลงานที่ทรงคุณค่า ทั้งด้านบทกวี ภาพลายเส้นสีดำและสี ภาพเขียนสี อุปกรณ์เครื่องเขียนที่ท่านใช้สร้างสรรค์งานและสิ่งของที่ท่านเก็บสะสม โดยใช้สถานที่ที่เป็นทั้งบ้านอันแสนอบอุ่นและสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ผลงานทั้งผลงานภาพวาดและบทกวีของท่าน เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งความทรงจำอันดีที่ท่านจารึกไว้แก่โลกใบนี้
“ผมจะไปเกิดเป็นกวีในทุกภพทุกชาติ” เป็นหนึ่งในถ้อยคำสุดท้ายอันเปี่ยมด้วยพลังแห่งไฟฝันที่ อังคาร กัลยาณพงศ์ เอ่ยกับคนใกล้ชิด ก่อนลาจากโลกนี้ไปอย่างสงบในวัย ๘๖ ปี ช่วงเช้ามืดของวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ โดยจัดให้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๖
ณ วัดทองนพคุณ ภายในงานจัดให้มีกิจกรรมเพื่อรำลึกหนึ่งในศิลปินเอกผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย
ขอจารึกบทความนี้เพื่อรำลึกถึงจิตรกรกวีศรีแผ่นดิน ศิลปินแห่งชาติผู้ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างลุ่มลึกผ่านงานศิลป์และกวีนิพนธ์ นามว่า “อังคาร กัลยาณพงศ์”
บรรณานุกรม
- ผศ.ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, ๒๕๕๓.
- สัมพันธ์ ก้องสมุทร. อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีสามภพชาติ. กรุงเทพฯ : วสี ครีเอชั่น, ๒๕๕๕.
- อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์. พ่ออังคารมาจากดาวโลก. กรุงเทพฯ : อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์, ๒๕๕๖.
- กองบรรณาธิการ. “ชายคนนี้หรือคือกวี นัดพบ อังคาร กัลยาณพงศ์” โลกหนังสือ. ๔(๔) : ๒๐-๔๓ : พฤษภาคม ๒๕๒๔.
Hits: 2483